5 วิธีจัดการพอร์ตการลงทุน รับมือสถานการณ์เศรษฐกิจปี 2022

5 วิธีจัดการพอร์ตการลงทุน รับมือสถานการณ์เศรษฐกิจปี 2022
Create at 1 year ago (Oct 21, 2022 15:50)

หากต้องการลงทุนในช่วงที่เศรษฐกิจมีความผันผวนจะต้องทำอย่างไร? นักลงทุนหลายท่านอาจจะต้องการหลีกเลี่ยงสถานการณ์เช่นนี้ แต่นักลงทุนบางกลุ่มก็อาจมองว่า มันเป็นโอกาสดีที่จะลองเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นมุมมองแบบไหนก็ตาม สิ่งที่ควรทำในช่วงนี้ก็คือ “การปรับพอร์ตการลงทุน” ให้เหมาะสมกับตนเองและสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในขณะนี้ ดังนั้น ด้วยความปรารถนาดีจากทีมงาน Fxtoday เราจึงอยากนำเสนอวิธีการจัดการพอร์ตการลงทุน เพื่อรับมือสถานการณ์เศรษฐกิจของปี 2022 นี้ จะมีอะไรบ้าง ไปติดตามกันครับ

 

สถานการณ์ตลาดการลงทุนในปัจจุบัน

 

สถานการณ์ตลาดการลงทุนในปัจจุบัน

กล่าวได้ว่า ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ หลังจากที่หลาย ๆ ประเทศทั่วโลกเผชิญกับโรคระบาดอย่างโควิด-19 ประกอบกับปัจจัยภายนอกอื่น ๆ ทั้งความขัดแย้งระหว่างประเทศมหาอำนาจ และประเทศผู้ผลิตน้ำมัน ส่งผลให้เศรษฐกิจโดยรวมทั่วโลกอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ค่อยดีนัก รวมถึงประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาด้วยเช่นกัน 

โดยเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2022 นี้ หดตัวลงถึง 0.6% แม้ว่าตัวเลขดังกล่าวจะน้อยกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ที่ 0.9% แต่เศรษฐกิจในทางเทคนิคกลับเข้าสู่ภาวะถดถอย อีกทั้งดัชนีราคาจากรายจ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ซึ่งเป็นมาตรวัดการเปลี่ยนแปลงในแนวโน้มการสั่งซื้อและภาวะเงินเฟ้อ เพิ่มขึ้น 1.5% สูงกว่าที่ประมาณการล่วงหน้า 1%

จากภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปีนี้ที่มีความไม่แน่นอน ทำให้ตลาดการลงทุนทั้งในและนอกประเทศต่างก็เกิดความผันผวนตามไปด้วย อันเนื่องมาจากการที่สหรัฐฯ ถือเป็นตลาดหลักของโลก ทั้งในด้านการลงทุน ค่าเงิน รวมถึงการดำเนินนโยบายต่าง ๆ ซึ่งประเทศไทยเองก็ได้ปัจจัยกดดันนี้มาด้วยเช่นกัน

หากกลับมามองที่ฝั่งไทย เศรษฐกิจก็ไม่ได้ดีไปกว่ากันนัก แม้ว่าจะมีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคเพื่อเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวแล้วก็ตาม นั่นเพราะว่าปัญหาเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูง ค่าเงินบาทอ่อนอย่างต่อเนื่อง และภาคการส่งออกที่โตช้าลงตามเศรษฐกิจโลก รวมถึงปัจจัยอื่น ๆ ซึ่งส่งผลกระทบต่อนักลงทุนในประเทศ ดังนั้น การปรับพอร์ตการลงทุนให้ดีจึงถือเป็นสิ่งสำคัญในสถานการณ์เช่นนี้

 

ลักษณะพอร์ตการลงทุนที่ดี

 

ลักษณะพอร์ตการลงทุนที่ดี 

พอร์ตการลงทุนที่ดีควรมีลักษณะเช่นไร? เชื่อว่าหลายคนอาจเกิดคำถามนี้ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว พอร์ตการลงทุนที่ดีอาจจะไม่ได้มีนิยามแบบตายตัว นั่นเป็นเพราะว่าพอร์ตการลงทุนที่ดีสำหรับแต่ละคนนั้นแตกต่างกัน แต่สิ่งหนึ่งที่มีร่วมกันก็คือ การกำหนดรูปแบบการลงทุนให้เหมาะกับความเสี่ยงที่เรายอมรับได้ 

นอกจากนี้ นักลงทุนยังควรมีการจัดสรรสินทรัพย์ (Asset Allocation) เพื่อกระจายความเสี่ยง และอีกทางหนึ่งก็เพื่อช่วยให้คุณสามารถสร้างโอกาสในการลงทุนได้ ดังคำกล่าวที่ว่า “อย่าเก็บไข่ทุกฟองไว้ในตะกร้าใบเดียว” เพื่อให้เกิดสภาพคล่อง ความยืดหยุ่น แต่ก็ไม่ควรกระจัดกระจายมากจนเกินไป

 

วิธีจัดการพอร์ตการลงทุน รับมือสถานการณ์เศรษฐกิจ

หากต้องการเริ่มจัดพอร์ตการลงทุนในช่วงเศรษฐกิจผันผวนนั้นควรเริ่มต้นอย่างไร? อันดับแรกต้องมีการวางแผนการลงทุน ซึ่งแผนดังกล่าวนี้ ทุกท่านจะสามารถปรับใช้ได้ในทุกช่วงเศรษฐกิจ โดยมีรายละเอียดดังนี้

 

กำหนดเป้าหมาย

 

1. กำหนดเป้าหมาย

ในทุกการลงทุน ผู้ลงทุนควรกำหนดเป้าหมายคร่าว ๆ ของพอร์ตการลงทุนว่า “ต้องการลงทุนเพื่ออะไร?” ซึ่งอาจกำหนดเป็นการลงทุนแบบระยะสั้นเพื่อเน้นเก็งกำไร หรือระยะยาวเพื่อเป้าหมายการเกษียณ ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล อย่างไรก็ดี นักลงทุนแต่ละคนอาจมีมากกว่า 1 เป้าหมายก็ได้เช่นกัน และหากนักลงทุนมีเป้าหมายการลงทุนที่หลากหลายก็ควรที่จะแยกพอร์ตการลงทุนไปตามเป้าหมายนั้น ๆ เพราะหากคุณมีเป้าหมายที่ชัดเจนแล้วก็จะทำให้การวางแผนการลงทุนของคุณเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

สำรวจตนเอง

 

2. สำรวจตนเอง 

ลำดับต่อมา สิ่งที่นักลงทุนควรทำ คือ การสำรวจตัวเอง ทั้งในแง่ของทัศนคติที่มีต่อการลงทุน อายุ ฐานะ เงินทุนสำหรับใช้ลงทุน และความสามารถในการยอมรับการขาดทุน ทั้งนี้ ก็เพื่อใช้พิจารณาการจัดพอร์ตการลงทุนของคุณ เนื่องจากนักลงทุนในแต่ละช่วงวัยและช่วงฐานะสามารถรับความเสี่ยงได้ต่างกัน

ตัวอย่างเช่น หากนักลงทุนเป็นวัยเริ่มทำงาน อายุน้อย ไม่มีภาระ อีกทั้ง มีระยะเวลาในการลงทุนยาว พวกเขาก็จะสามารถรับความเสี่ยงได้มากกว่านักลงทุนวัยกลางคนที่มีภาระที่ต้องรับผิดชอบมากกว่า ขณะเดียวกัน หากนักลงทุนค่อนข้างมีฐานะ มีทุนทรัพย์เยอะก็จะสามารถยอมรับความเสี่ยงและการขาดทุนได้มากกว่าผู้ที่มีทุนทรัพย์น้อยเช่นเดียวกัน

1) การสำรวจตัวเองเพื่อกำหนดระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้

ก่อนที่จะเริ่มลงทุนในสินทรัพย์ใด ๆ ก็ตาม คุณจึงควรสำรวจตัวเองก่อนเพื่อให้วางแผนที่เหมาะสมกับตนเองได้ และเพื่อไม่ให้เป็นการลำบากตัวเองมากจนเกินไป โดยกำหนดระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้แบ่งเป็นเปอร์เซ็นต์ เช่น คุณจะยอมขาดทุนได้เพียง 15% ของเงินทุนเท่านั้น เป็นต้น

 

การจัดการความเสี่ยง

 

2) การจัดการความเสี่ยงโดยใช้เครื่องมือช่วย

เมื่อคุณกำหนดระดับความเสี่ยงที่คุณยอมรับได้แล้ว สิ่งที่จะเข้ามาช่วยจัดการความเสี่ยงของคุณไม่ให้เกินขอบเขตที่ยอมรับได้ คือ การตั้งคำสั่ง Stop Loss โดยนักลงทุนจะต้องกำหนดจุดตัดขาดทุนที่คุณยอมรับได้ในขณะที่ทำการซื้อขาย นอกจากนี้ การตั้งคำสั่ง Take Profit ที่ใช้กำหนดจุดทำกำไรก็สำคัญเช่นกัน เนื่องจากมันจะช่วยปิดออเดอร์ที่ทำกำไรได้ในจุดที่คุณพึงพอใจแล้ว ซึ่งจะช่วยกำจัดอารมณ์โลภของนักลงทุนได้

อย่างไรก็ดี หากคุณต้องการเริ่มการลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพ สิ่งที่ควรใช้พิจารณาประกอบการเลือกสินทรัพย์ คือ การวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน และการวิเคราะห์ทางเทคนิค ซึ่งสามารถใช้ Indicator ช่วยวิเคราะห์กราฟเพื่อหาจุดเข้าซื้อและจุดออกได้ ทั้งยังสามารถใช้คำสั่ง Limit เพื่อเปิดคำสั่งซื้อขาย ในกรณีที่กราฟเคลื่อนที่ไปยังจุดที่คุณตั้งไว้ได้เช่นกัน โดยคำสั่งดังกล่าวจะไม่ถูกเปิด หากกราฟไม่เคลื่อนที่ไปยังจุดที่ตั้งไว้

จากทั้งหมดนี้ จะเห็นได้ว่า การสำรวจตนเองมีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะมันจะช่วยกำหนดกลยุทธ์การลงทุนของคุณได้ อีกทั้ง การใช้เครื่องมือและคำสั่งซื้อขายต่าง ๆ เองก็เป็นประโยชน์ต่อการกำจัดอารมณ์ร่วมและความเสี่ยงของคุณ ทำให้คุณทำตามแผนการลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

 

จัดพอร์ตการลงทุน

 

3. จัดพอร์ตการลงทุน

หากทราบเป้าหมายและความเสี่ยงที่คุณยอมรับได้แล้ว ขั้นตอนต่อมา คือ การจัดพอร์ตการลงทุนให้เหมาะสมกับสไตล์ของแต่ละคน ทั้งนี้ อย่ามองแค่อัตราผลตอบแทน แต่ให้ดูที่ความคุ้มค่าความเสี่ยง โดยลักษณะพอร์ตที่เหมาะสมกับคนแต่ละช่วงวัย มีดังนี้

- พอร์ตเชิงรุก (Aggressive) เหมาะสำหรับวัยเริ่มทำงาน รับความเสี่ยงได้สูง โดยแบ่งลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงสูงได้ประมาณ 70% ของพอร์ตการลงทุนโดยรวม ส่วนที่เหลือจะลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำและปานกลาง

- พอร์ตเสี่ยงปานกลาง (Moderate) เหมาะสำหรับวัยกลางคน รับความเสี่ยงได้ปานกลาง โดยแบ่งลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงสูงได้ครึ่งหนึ่งของพอร์ตการลงทุนโดยรวม หรือ 50% ส่วนที่เหลือจะลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำและปานกลาง

- พอร์ตแบบระมัดระวัง (Conservative) เหมาะสำหรับวัยใกล้เกษียณ รับความเสี่ยงได้น้อย โดยแบ่งลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงสูงได้ประมาณ 30-40% ของพอร์ตการลงทุนโดยรวม ส่วนที่เหลือจะลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำและปานกลาง

จากข้างต้น จะเห็นได้ว่า ทุกพอร์ตการลงทุนจะมีการกระจายความเสี่ยงไปทั้งสินทรัพย์เสี่ยงสูง กลาง และต่ำ อย่างไรก็ดี หากนักลงทุนต้องการให้พอร์ตของตัวเองอยู่รอดท่ามกลางเศรษฐกิจที่ผันผวน อีกปัจจัยที่ควรคำนึงถึง คือ การเลือกสินทรัพย์สัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ที่เป็นลบระหว่างกัน หรือก็คือ สินทรัพย์ที่มีตัวแปรหรือปัจจัยที่ส่งผลต่อราคาผกผันกัน ตัวอย่างเช่น หากราคาของทองคำมีการปรับตัวสูงขึ้น สกุลเงินก็จะอ่อนค่าลง เป็นต้น ทั้งนี้ ก็เพื่อให้พอร์ตของคุณสามารถอยู่รอดได้ในทุกสถานการณ์

 

ติดตามผลและปรับปรุงพอร์ตการลงทุน

 

4. ติดตามผลและปรับปรุงพอร์ตการลงทุน

การจัดพอร์ตการลงทุนที่เหมาะสมไม่ใช่ขั้นตอนสุดท้าย และยังไม่ถือเป็นพอร์ตการลงทุนที่สมบูรณ์ เนื่องจากสภาวะทางเศรษฐกิจต่างก็มีวงโคจรของมันเอง หรือที่เรียกกันว่า “วัฏจักรเศรษฐกิจ” (Economy Cycle) อีกทั้ง ยังมีปัจจัยภายในอย่างการดำเนินงานของบริษัท โปรเจ็กต์ หรือแม้แต้การบริหารงานภายในประเทศ และปัจจัยภายนอกที่ไม่อาจคาดเดาได้ อาทิ ภัยธรรมชาติ อุบัติเหตุ รวมถึงสงครามระหว่างประเทศด้วยเช่นกัน 

ทั้งหมดนี้ล้วนส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยรวมและตลาดการลงทุนได้ ดังนั้น นักลงทุนจึงควรติดตามข่าวสาร ตัวเลขทางเศรษฐกิจ ตลอดจนการดำเนินงานของบริษัทอย่างสม่ำเสมอ เพื่อพิจารณาในการปรับพอร์ตการลงทุนของคุณเป็นรายไตรมาสหรือรายปีแล้วแต่ความเหมาะสม เพื่อให้การลงทุนของคุณเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และทำให้พอร์ตของคุณอยู่รอดในทุกช่วงเศรษฐกิจ

นอกจากทั้งหมดที่กล่าวมาแล้ว หากไม่ต้องการใช้เงินที่สูงเกินไปในการลงทุนช่วงเศรษฐกิจผันผวนหรือตกต่ำ การลงทุนแบบถัวเฉลี่ย (Dollar-Cost Averaging: DCA) ก็ถือเป็นสิ่งที่สำคัญเช่นกัน เพราะการถัวเฉลี่ยจะทำให้ต้นทุนของคุณต่ำลงหากลงทุนในระยะยาว

 

หมั่นศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม

 

5. หมั่นศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม

นอกจากติดตามสถานการณ์ข่าวสารต่าง ๆ แล้ว สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับการจัดพอร์ตการลงทุนอีกอย่าง คือ การศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมอย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากความรู้จะช่วยทำให้นักลงทุนหลีกเลี่ยงและกำจัดความเสี่ยงไปได้ในระดับหนึ่ง อีกทั้ง ยังช่วยเพิ่มโอกาสในการลงทุนสินทรัพย์ใหม่ ๆ ได้เช่นกัน อย่างไรก็ดี ความรู้ก็ควรมาพร้อมกับประสบการณ์ ดังนั้น นักลงทุนจึงควรศึกษาหาความรู้ในหลาย ๆ แง่มุม จากหลาย ๆ สถานการณ์โดยนักลงทุนมืออาชีพ เพื่อนำมาปรับใช้กับการลงทุนของตัวเองต่อไป

โดยสรุปแล้ว หากต้องการรับมือกับเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอนในช่วงนี้ นักลงทุนควรมีการบริหารจัดพอร์ตการลงทุนของตัวเองอย่างสม่ำเสมอ เลือกความเสี่ยงและสไตล์การลงทุนที่เหมาะสมกับตัวเอง ตลอดจนมีการใช้เครื่องมือคู่กับความรู้เพื่อลดความเสี่ยงและลดโอกาสที่จะขาดทุนจากสภาวะตลาดที่ผันผวน อีกทั้ง ยังควรติดตามข่าวสารจากทั้งภายในและภายนอก โดยเฉพาะฝั่งสหรัฐฯ ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม 5 วิธีการจัดการพอร์ตการลงทุนที่เราได้นำเสนอไป นักลงทุนสามารถนำไปปรับใช้ได้ในทุกช่วงวัฏจักรเศรษฐกิจและทุกประเภทสินทรัพย์ เนื่องจากเป็นสิ่งพื้นฐานในการลงทุน อย่าลืมนำแผนการบริหารพอร์ตนี้ไปปรับใช้กันนะครับ เพื่อให้การลงทุนของคุณมีประสิทธิภาพสูงสุด

อ้างอิง: SET Invest Now, Finnomena, Krungsri The COACH, Royal Thai Government

____________________________________________
อัพเกรดความรู้เพิ่มเติม: Blog
รู้เท่าทันข่าว&สถานการณ์โลก: Forex News
บทวิเคราะห์เชิงเทคนิคขั้นสูง: Technical Analysis
Tags:

Forex News

TECHNICAL ANALYSIS