นโยบายของ Fed ไม่เพียงแต่ส่งผลต่อธนาคารกลางทั่วโลก แต่ยังส่งผลต่อตลาดหลักทรัพย์ รวมถึงสภาวะเศรษฐกิจโลก ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น? วันนี้ทีมงาน Fxtoday จะพาทุกท่านย้อนไปดูจุดเริ่มต้นของ Fed ในฐานะ “ถุงเงินสำรองสหรัฐฯ” ก่อนจะขยับขึ้นมามีอิทธิพลต่อโลกของเรากันครับ
อันดับแรก มาทบทวนกันก่อนครับ เราเคยแนะนำไปแล้วว่า Fed คืออะไร? และมีบทบาทสำคัญอย่างไร รวมถึงเครื่องมือในการกำหนดนโยบายการเงินของ Fed เป็นอย่างไร แต่ในบทความนี้ เราจะพาทุกท่านไปดูจุดกำเนิดที่แท้จริงของ Fed กันครับ
จุดเริ่มต้นของ FED ก่อนเป็นผู้ชี้ชะตาโลก
Federal Reserve หรือที่เรียกกันสั้น ๆ ว่า “Fed” คือ ธนาคารกลางของสหรัฐฯ แต่หากแปลกันตามตรงแล้ว มันก็คือ “ถุงเงินสำรองของรัฐบาลกลาง” ในขณะนั้น โดยมีจุดเริ่มต้นมาจากแนวคิด “เงินกองกลางเพื่อการเดินเรือ” ที่ทำให้เกิดธนาคารกลางแห่งแรกของโลกอย่าง Bank of Amsterdam ประเทศเนเธอร์แลนด์ ในปี 1609 สถาบันที่จัดการสกุลเงินและนโยบายการเงินของรัฐอย่างเป็นทางการ
แม้ว่าแนวคิดนี้จะได้รับความสนใจ จนทำให้เกิดความพยายามในการก่อตั้งธนาคารกลาง 2 ครั้ง ในอเมริกา แต่มันก็ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร จนกระทั่งปี 1906 เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่รุนแรงที่สุดในสหรัฐฯ มันสร้างความเสียหายอย่างมากมาย จนบริษัทประกันภัยไม่สามารถจ่ายค่าสินไหมทดแทนได้
บริษัทประกันภัยสัญชาติอังกฤษที่เป็นผู้รับผิดชอบหลัก จึงดึงเอาสภาพคล่องของตนออกจากสหรัฐฯ เพื่อให้สามารถนำเงินมาจ่ายค่าสินไหมได้ อเมริกาจึงประสบกับวิกฤติขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรง จนทำให้ตลาดหุ้น Wall Street ปรับตัวลงกว่า 50% ประกอบกับประชาชนเกิดความตระหนกแล้วแห่ไปถอนเงินออกจากธนาคาร (Bank Run) ทำให้ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งขาดเสถียรภาพ
Nelson Aldrich วุฒิสมาชิกสหรัฐฯ ในขณะนั้น ได้ร่วมหารือกับคนมากมายเพื่อแก้ปัญหา ซึ่งคำตอบก็คือ การก่อตั้งธนาคารกลางของสหรัฐฯ โดยมีผู้ร่วมทุนคนแรกอย่าง John Pierpont Morgan ผู้ก่อตั้ง JP Morgan ธนาคารที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ จากนั้น นายธนาคารอื่น ๆ ก็ร่วมทุนในครั้งนี้ จนเกิดเป็นร่างกฎหมายเพื่อจัดตั้ง Federal Reserve ปี 1907 มีเป้าหมายเพื่อใช้เป็นเงินสำรองในการกู้ภัยเศรษฐกิจสหรัฐฯ และเปิดดำเนินการอย่างเป็นทางการ ในปี 1913