ข่าวดีจากการประชุมกลุ่ม OPEC ส่งผลอะไรบ้างต่อตลาดน้ำมันดิบ

ข่าวดีจากการประชุมกลุ่ม OPEC ส่งผลอะไรบ้างต่อตลาดน้ำมันดิบ
Create at 3 years ago (Jan 11, 2021 12:05)

เปิดคริสตศักราชใหม่ 2021 ด้วยความเข้มข้นในตลาดลงทุนทันที นอกจากประเด็นการเลือกตั้งวุฒิสภาในรัฐจอร์เจียแล้ว นักลงทุนยังต้องโฟกัสกับผลการประชุมของกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันที่ต้องเรียกประชุมด่วนทันทีหลังปีใหม่เพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ทั่วโลกเพิ่มความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ข่าวดีก็คือการประชุมครั้งนี้ของกลุ่มโอเปกไม่ได้จบลงด้วยความขัดแย้งเมื่อรัสเซียยอมยกเลิกข้อเรียกร้องเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมัน 500,000 บาร์เรลต่อวันแต่ได้รับอนุญาตกับคาซัคสถานให้เพิ่มกำลังการผลิตในเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคมด้วยปริมาณ 75,000 บาร์เรลต่อวัน

ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีข่าวดีอีกหนึ่งเรื่องเมื่อรัฐมนตรีกระทรวงน้ำมันของซาอุดิอาระเบียประกาศว่าประเทศของเขายินดีที่จะช่วยลดกำลังการผลิตน้ำมันของตัวเองลง 1 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคมแลกกันกับการที่รัสเซียและคาซัคสถานได้ผลิตน้ำมันเพิ่ม นอกจากนี้ท่านรัฐมนตรียังกล่าวอีกว่าบริษัทผู้ผลิตน้ำมันอาหรับจะช่วยลดกำลังการผลิตน้ำมันอีกจำนวน 425,000 บาร์เรลต่อวัน แต่ไม่ได้บอกชัดเจนว่าใครจะลดกำลังการผลิตในจำนวนเท่าไหร่

Oil Weekly TTMOil Weekly TTM

ข่าวดีดังกล่าวสร้างความเบาใจให้กับนักลงทุนตลาดน้ำมันเป็นอย่างมาก จนทำให้ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ และ WTI ปรับขึ้นประมาณ 5% ในวันอังคารก่อนที่จะเริ่มกลับเข้าสู่สภาวะปรับฐานอีกครั้ง ในบทความนี้เราจะมาดูกันว่าข่าวดีดังกล่าวส่งผลกระทบต่อตลาดน้ำมันดิบอย่างไรบ้าง

1.  เปิดโอกาสให้บริษัทผู้ผลิตน้ำมันของสหรัฐอเมริกามากขึ้น

ไม่ต้องคิดเลยว่าข่าวนี้จะทำให้บริษัทผู้ผลิตน้ำมันได้ “เฮ” มากแค่ไหนเพราะตลอดปี 2020 ที่ผ่านมาธุรกิจเหล่านี้ได้รับผลกระทบจากความต้องการน้ำมันตกต่ำจนไม่สามารถผลิตน้ำมันได้มากเท่ากับที่เคยทำไว้ อย่างไรก็ตาม บริษัทผู้ผลิตน้ำมันที่ได้อยู่ในแหล่งขุดน้ำมันชั้นดียังคงผลิตน้ำมันออกมาอยู่อย่างต่อเนื่อง พวกเขาอาจฉวยโอกาสนี้ในการเพิ่มกำลังการผลิตของตัวเองแทนในส่วนที่ซาอุดิอาระเบียลดลง 

สิ่งที่นักลงทุนควรจับตาดูก็คือการปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมันดิบจะเกิดขึ้นจากการผลิตน้ำมันที่เพิ่มขึ้นของบริษัทเหล่านี้หรือไม่ หากเป็นเช่นนั้นจริง ก็ต้องดูต่อว่าการผลิตน้ำมันเหล่านั้นสามารถชดเชยในส่วนที่บริษัทผู้ผลิตน้ำมันอื่นๆ ลดลงได้หรือไม่ มีข่าวว่าบริษัทผู้ผลิตน้ำมันบางแห่งตัดสินใจเปิดการใช้งานแท่นขุดเจาะน้ำมันเพิ่มเติมแล้ว

2. การส่งออกน้ำมันของซาอุดิอาระเบียไม่ได้ลดลง

แม้จะมีการประกาศลดกำลังการผลิตน้ำมัน 1 ล้านบาร์เรลต่อวันออกไปแล้ว แต่บริษัทผู้ผลิตน้ำมันประจำชาติของซาอุดิอาระเบีย “อารัมโก” (SE:2222) ก็ยังมีน้ำมันอยู่ในคลังเพียงพอที่จะส่งมอบให้กับลูกค้าได้ตามคำสั่งซื้อไม่ว่าสถานการณ์น้ำมันโลกจะเป็นเช่นไรก็ตาม นอกจากนี้อารัมโกได้ประกาศขึ้นราคาขายน้ำมัน (OSP) กับลูกค้าที่อยู่ทางฝั่งเอเชียแล้ว หมายความว่าลูกค้าที่ไม่ได้ทำสัญญาซื้อน้ำมันระยะยาวกับอารัมโกก็จะสามารถมองหาผู้ขายน้ำมันที่มีราคาถูกกว่าได้อย่างเช่นจากอีรักและสหรัฐอเมริกา

3. ซาอุดิอาระเบียกับความพยายามจะเป็นผู้ที่ยืดหยุ่นต่อราคา

เจ้าชายอับดุลลาซิซพยายามเปลี่ยนไปสนับสนุนการตัดสินใจลดกำลังผลิตน้ำมัน โดยมีจุดประสงค์เพื่อหนุนตลาดล่วงหน้าในกรณีที่รัฐบาลยังคงใช้มาตรการปิดกั้นทางเศรษฐกิจที่ทำลายอุปสงค์จากไวรัสโคโรนาเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามตอนนี้ดูเหมือนว่าซาอุดิอาระเบียพยายามที่จะเอาใจกลุ่มโอเปก+ มากขึ้นแต่ในความเห็นของนักวิเคราะห์ วิธีนี้จะใช้ไม่ได้ผลในระยะยาว 

กลยุทธ์เป็นผู้ที่ยืดหยุ่นต่อราคาจะสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อคู่แข่งไม่มีพื้นที่กักเก็บสินค้าหลงเหลืออยู่ แต่สถานการณ์น้ำมันดิบโลกในปัจจุบันนี้มีประเทศที่ต้องการน้ำมันมากักเก็บมากมายอย่างเช่นสหรัฐอเมริกา อิรัก รัสเซียและประเทศสมาชิกอื่นๆ ครั้งหนึ่งในปี 1980 ซาอุดิอาระเบียเคยใช้วิธีลดกำลังการผลิตของตนเองลงมาเพื่อหนุนราคาน้ำมันไว้แล้ว แต่ก็ไม่ได้ผลจนสุดท้ายเป็นซาอุดิอาระเบียและบริษัทอารัมโกเองที่ต้องเสียเงินกับการกระทำเช่นนี้ไปเป็นจำนวนมาก หลังจากที่ได้บทเรียนนี้ รมต. กระทรวงน้ำมันของซาอุดิอาระเบียคนก่อนๆ จึงไม่ยอมที่จะลดกำลังการผลิตของตัวเองลงมาเลยถ้าประเทศสมาชิกในกลุ่มโอเปกหรือโอเปกพลัสไม่ยอมลดกำลังการผลิตลงมาก่อน 

สรุปก็คือการตัดสินใจลดกำลังการผลิตน้ำมันของตัวเองเพื่อชดเชยให้กับส่วนของรัสเซียและคาซัคสถานนั้นอาจจะได้ผลในช่วงระยะเวลาหนึ่ง แต่ไม่ใช่การแก้ปัญหาในระยะยาว

4. การโกงโควตาการผลิตน้ำมันภายในกลุ่มโอเปก

ที่ผ่านมาซาอุดิอาระเบียต้องทำตัวเป็นพี่ใหญ่คอยควบคุมประเทศสมาชิกไม่ให้ผลิตน้ำมันเกินโควตาของตน ใครก็ตามที่แอบทำผิดกฏจะต้องถูกลงโทษด้วยการลดกำลังการผลิตเพื่อชดเชยส่วนที่ผลิตเกินออกมา กับประเทศผู้ผลิตเล็กๆ วิธีนี้ดูเหมือนจะบังคับใช้ได้ดี แต่ก็ต้องงัดข้อกับประเทศใหญ่ๆ อย่างรัสเซีย คาซัคสถานและอีรักอยู่หลายครั้ง ตอนนี้การลดกำลังการผลิตของซาอุดิอาระเบียเพื่อชดเชยส่วนที่ประเทศอื่นๆ ต้องการผลิตเพิ่มเป็นเหมือนการบังคับประเทศสมาชิกอื่นๆ ให้เกรงใจมากขึ้น 

เชื่อว่าในเดือนหน้าและมีนาคม นักลงทุนจะได้เห็นประเทศสมาชิกโอเปกพลัสบางประเทศเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันของตนขึ้นมา และหากโชคดีกว่านั้น หวังว่าความเห็นอกเห็นใจจะทำให้ประเทศสมาชิกมีสำนึก ผลิตน้ำมันตามโควตาที่ตกลงกันกับกลุ่มเอาไว้ในขณะที่พี่ใหญ่กำลังเสียสละให้ประเทศอื่นได้ผลิตน้ำมันมากขึ้น

Tags:

TECHNICAL ANALYSIS

ARTICLES