ทำความรู้จัก “ธนาคารกลาง” ผู้กำหนดทิศทางการเงินภายในประเทศ

ทำความรู้จัก “ธนาคารกลาง” ผู้กำหนดทิศทางการเงินภายในประเทศ
Create at 3 months ago (Jan 16, 2024 10:46)

การเงินเป็นเรื่องของทุกคน แต่ผู้ที่กำหนดทิศทางการเงินภายในประเทศ คือ “ธนาคารกลาง” ซึ่งเป็นสถาบันทางการเงินที่มีบทบาทสำคัญต่อการเงินและเศรษฐกิจภายในประเทศเป็นอย่างมาก อีกทั้ง แนวทางของธนาคารกลางบางแห่งยังอาจส่งผลกระทบต่อผู้คนทั้งโลก ดังนั้น ในบทความนี้ Fxtoday จะพาทุกท่านไปทำความรู้จักกับธนาคารกลาง ผู้กุมบังเหียนการเงินของประเทศกันครับ

 

ทำความรู้จัก “ธนาคารกลาง” คืออะไร?

ธนาคารกลาง (Central Bank) คือ สถาบันทางการเงินที่ถูกจัดตั้งขึ้นมาเพื่อควบคุมปริมาณเงินภายในระบบ ทำให้เศรษฐกิจภายในประเทศหรือกลุ่มประเทศสามารถดำเนินไปได้อย่างมีเสถียรภาพ จุดเด่นของธนาคารกลาง คือ การเป็นอิสระทางการเมืองและมีสถานะผูกขาดทางกฎหมาย ทำให้ธนาคารกลางสามารถจัดการตีพิมพ์ธนบัตร ตลอดจนเป็นนายธนาคารและนายทะเบียนหลักทรัพย์ของรัฐบาลได้

ธนาคารกลางของประเทศไทย คือ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีบทบาทหน้าที่หลักในการบริหารจัดการให้ระบบเศรษฐกิจและการเงินของประเทศดำเนินไปด้วยความเรียบร้อยนั่นเองครับ

 

ทำความรู้จัก “ธนาคารกลาง” คืออะไร

 

ทำไมต้องมีธนาคารกลาง?

จุดประสงค์หลักในการก่อตั้งธนาคารกลาง คือ “การรักษาเสถียรภาพทางการเงิน” เพราะค่าเงินของแต่ละประเทศมีการปรับเปลี่ยนขึ้นลงตามปัจจัยต่าง ๆ ซึ่งหากการเปลี่ยนแปลงนี้เป็นไปอย่างรวดเร็วและรุนแรงก็จะกระทบต่อการเงินและเศรษฐกิจภายในประเทศ ทำให้ภาคประชาชนและภาคธุรกิจได้รับผลกระทบจากความผันผวนดังกล่าวจนอาจเกิดวิกฤตทางการเงินต่อไปได้

ในทางกลับกัน หากปล่อยให้มีการตรึงค่าเงินให้อยู่ในอัตราคงที่ดังเช่นประเทศไทยในอดีตก็จะเป็นการฝืนกลไกตลาด และส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจ ตลอดจนความน่าเชื่อถือของประเทศนั้น ๆ อย่างรุนแรงได้ ดังนั้น ธนาคารจึงถือกำเนิดมาเพื่อรักษาเสถียรภาพของค่าเงินและระบบเศรษฐกิจภายในประเทศให้เป็นไปอย่างสมดุลนั่นเอง

 

ธนาคารกลางแตกต่างจากธนาคารพาณิชย์อย่างไร?

ธนาคารกลาง” กับ “ธนาคารพาณิชย์” มีความแตกต่างกัน คือ

ความแตกต่าง

ธนาคารกลาง

ธนาคารพาณิชย์

ความเป็นเจ้าของ

เป็นของสาธารณะ

เป็นของรัฐหรือเอกชน

สถานะ

สถาบันชั้นนำในตลาดเงิน

หน่วยหนึ่งของโครงสร้างที่ดำเนินงานภายใต้การควบคุมของธนาคารกลาง

บทบาทหน้าที่

รักษาเสถียรภาพทางการเงินและเศรษฐกิจภายในประเทศ

แสวงหาผลกำไรเช่นเดียวกับบริษัทเอกชนอื่น ๆ

จำนวนธนาคาร

มีแห่งเดียวภายในประเทศ

มีหลายแห่ง

กลุ่มลูกค้า

ธนาคารพาณิชย์และรัฐบาลเท่านั้น

ประชาชนทั่วไปและนิติบุคคล

แหล่งที่มาของปริมาณเงิน

ธนาคารกลางเป็นแหล่งเงินในระบบเศรษฐกิจ

ธนาคารพาณิชย์ดำเนินการโดยใช้เงินฝากที่ได้รับจากบุคคลหรือนิติบุคคล

 

ธนาคารกลางมีหน้าที่อะไรบ้าง?

โดยทั่วไปแล้ว ธนาคารกลางมีหน้าที่หลัก ๆ 3 ประการ ดังต่อไปนี้

1. การกำหนดและดำเนินนโยบายการเงิน

นโยบายการเงิน (Monetary Policy) เป็นเครื่องมือที่ธนาคารกลางใช้ควบคุมปริมาณเงินโดยรวมที่มีอยู่ในระบบเศรษฐกิจ เพื่อให้เกิดเสถียรภาพทางการเงินสูงสุด ไม่แข็งค่าหรืออ่อนค่ามากจนเกินไป เพราะอาจจะส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศนั้น ๆ ได้ โดยนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางจะมี 2 แนวทาง คือ นโยบายแบบเข้มงวด และนโยบายแบบผ่อนคลาย

2. การรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน

การรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน นับเป็นหน้าที่ที่ไม่อาจมองข้าม เพราะสมดุลของค่าเงินจะส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของคนภายในประเทศต่อไป ดังนั้น ธนาคารกลางจึงต้องดำเนินนโยบายทางการเงินเพื่อรักษาสมดุลดังกล่าว เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจภายในประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืน

3. การกำกับระบบสถาบันการเงิน

นอกจากการดูแลเสถียรภาพทางการเงินแล้ว อีกหนึ่งบทบาทที่มีความสำคัญของธนาคารกลาง คือ การกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินต่าง ๆ ให้ตอบสนองผู้ใช้บริการทางการเงินอย่างเหมาะสม ขณะเดียวกันก็คงไว้ซึ่งเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงินและเศรษฐกิจโดยรวม

อย่างไรก็ดี ธนาคารกลางยังมีหน้าที่อื่น ๆ อีก เช่น การออกธนบัตร การให้กู้แก่ธนาคารพาณิชย์ การจัดตั้งหรือสนับสนุนระบบการชำระเงิน การบริหารทุนสำรองระหว่างประเทศ การควบคุมกฎหมายว่าด้วยการแลกเปลี่ยน ตลอดจนการให้คำปรึกษาด้านการเงินแก่หน่วยงานต่าง ๆ เป็นต้น

 

10 อันดับธนาคารกลางที่ใหญ่ที่สุดในโลก

หากอ้างอิงข้อมูลจากกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ (Sovereign Wealth Fund Institute: SWFI) ธนาคารกลางที่ใหญ่ที่สุดในโลกเรียงตามทรัพย์สินสุทธิมีดังนี้

ธนาคารกลาง

ประเทศ

ทรัพย์สินสุทธิ

Federal Reserve System

สหรัฐฯ

7.86 ล้านล้านดอลลาร์

Bank of Japan

ญี่ปุ่น

5.15 ล้านล้านดอลลาร์

People's Bank of China

จีน

5.14 ล้านล้านดอลลาร์

Deutsche Bundesbank

เยอรมนี

2.68 ล้านล้านดอลลาร์

Bank of France

ฝรั่งเศส

2.30 ล้านล้านดอลลาร์

Bank of Italy

อิตาลี

1.55 ล้านล้านดอลลาร์

Bank of Spain

สเปน

1.32 ล้านล้านดอลลาร์

Bank of England

อังกฤษ

1.29 ล้านล้านดอลลาร์

Swiss National Bank

สวิตเซอร์แลนด์

1.03 ล้านล้านดอลลาร์

Reserve Bank of India

อินเดีย

8.18 แสนล้านดอลลาร์

อ้างอิงข้อมูล ณ วันที่ 8 มกราคม 2567

 

โดยสรุปแล้ว ธนาคารกลางถือเป็นหน่วยงานที่ดูแลเสถียรภาพค่าเงินและเศรษฐกิจภายในประเทศหรือกลุ่มประเทศให้อยู่ในระดับสมดุล เพื่อป้องกันวิกฤตทางการเงินหรือผลกระทบต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากค่าเงินที่ผันผวนมากจนเกินไป 

แต่อย่างไรก็ดี แนวทางในการดำเนินนโยบายทางการเงินของแต่ละประเทศอาจมีความแตกต่างกันตามปัจจัยต่าง ๆ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนโยบายทางการเงินอย่างฉับพลันย่อมส่งผลต่อตลาดเงินและตลาดทุนไม่มากก็น้อย ดังนั้น อย่าลืมติดตามข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับธนาคารกลางใหญ่ ๆ และธนาคารกลางภายในประเทศประกอบการลงทุนกันด้วยนะครับ

Source: Sovereign Wealth Fund Institute, Investopedia, ธนาคารแห่งประเทศไทย 1 และธนาคารแห่งประเทศไทย 2

____________________________________________
อัพเกรดความรู้เพิ่มเติม: คลิกที่นี่
รู้เท่าทันข่าว&สถานการณ์โลก: คลิกที่นี่
บทวิเคราะห์เชิงเทคนิคขั้นสูง: คลิกที่นี่
Tags:

Forex News

TECHNICAL ANALYSIS