Bond Yield คืออะไร? สิ่งที่นักลงทุนควรเข้าใจก่อนลงทุน

Bond Yield คืออะไร
Create at 3 months ago (Jan 16, 2024 10:45)

Bond Yield คืออะไร? เพราะเหตุใดการที่ Bond Yield ปรับตัวขึ้นหรือลง จึงส่งผลต่อทิศทางของตลาดสินทรัพย์เสี่ยงอย่างหุ้น ซึ่งหากคุณอยู่ในแวดวงการลงทุน คงเคยได้ยินรายงานข่าวเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของผลตอบแทนพันธบัตรอยู่บ่อยครั้ง และหลายคนอาจกำลังเกิดความสงสัย รวมถึงตั้งมีคำถามมากมายเกี่ยวกับ “Bond Yield” ในบทความนี้ทางทีมงาน FXtoday มีคำตอบสำหรับทุกคำถามครับ

 

Bond Yield คืออะไร?

 

Bond Yield คือ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล หรือผลตอบแทนที่นักลงทุนคาดหวังจากการถือครองพันธบัตรรัฐบาลอายุต่าง ๆ ซึ่งนักลงทุนจะได้รับผลตอบแทนในรูปแบบ “ดอกเบี้ย” ตามที่ผู้ออกได้กำหนดไว้ แต่โดยส่วนใหญ่นักลงทุนจะให้ความสนใจกับ Bond Yield สหรัฐฯ อายุ 10 ปี (10-year Treasury Yield) เนื่องจากสามารถสะท้อนความเป็นไปของภาพรวมตลาดหุ้นได้ค่อนข้างดี รวมถึงนักวิเคราะห์ยังใช้คาดการณ์ทิศทางของตลาดเงินอีกด้วย


Bond Yield ระยะสั้น = ผลตอบแทนต่ำ

Bond Yield ระยะยาว = ผลตอบแทนสูง

การลงทุนใน Bond Yield ดีอย่างไร?

1. เป็นตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงต่ำ

2. มีการกำหนดผลตอบแทนไว้อย่างแน่นอน

3. มีระยะเวลาการลงทุนให้เลือกตั้งแต่ 1 ปี ไปจนถึง 10 ปี

4. ใช้เปรียบเทียบผลตอบแทนระหว่างตราสารหนี้ที่แตกต่างกัน

ทำไมนักลงทุนต้องให้ความสำคัญกับ Bond Yield

ตามทฤษฎีกล่าวไว้ว่า Bond Yield สามารถใช้คำนวณมูลค่าที่เหมาะสมของสินทรัพย์ทางการเงินได้ทุกชนิด ซึ่ง Discount Rate ที่สูงขึ้น จะส่งผลให้มูลค่าที่เหมาะสมของสินทรัพย์ลดลง หมายความว่า หาก Bond Yield เพิ่มขึ้นจะกดดันให้ค่า P/E (Price to Earning) ของตลาดหุ้นลดลงนั่นเอง

 
วิธีคำนวณ Bond Yield คืออะไร

 

การคำนวณ Bond Yield

Bond Yield สามารถคำนวณได้จากผลตอบแทนพันธบัตรต่อปี (Coupon Payment) หารด้วยมูลค่าที่ตราไว้ของพันธบัตร (Face Value) โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

Bond Yield = (Coupon Payment / Face Value) x 100

ความหมายของตัวแปร;

Coupon Rate คือ อัตราดอกเบี้ยที่ผู้ออกพันธบัตรต้องจ่ายต่อปี

Coupon Payment คือ ดอกเบี้ยที่นักลงทุนจะได้รับต่อปี (Face Value x Coupon Rate)

Face Value คือ ตัวเลขหนี้ที่ผู้ออกพันธบัตรต้องจ่ายคืน

ตัวอย่างการคำนวณ Bond Yield

หากรัฐบาลออกพันธบัตรอายุ 10 ปี มีอัตราดอกเบี้ยที่ระบุไว้เท่ากับ 3% และมีราคาที่ตราไว้ (Face Value) เท่ากับ 1,000 บาท ดังนั้น เมื่อคุณถือครองพันธบัตรจนครบอายุ คุณจะได้รับดอกเบี้ยปีละ 3% ซึ่งคิดเป็น 30 บาทต่อปี และหากคิดรวมเป็นเวลา 10 ปี จะได้เท่ากับ 300 บาท หรือคิดเป็น Bond Yield เท่ากับ 3% ซึ่งมาจากสูตรข้างต้น

Bond Yield = (30 / 1,000) x 100

หมายเหตุ: ในบทความนี้ไม่ได้คำนวณ Bond Yield บนพื้นฐานของมูลค่าเงินตามเวลา (Time Value of Money) เพื่อง่ายต่อการทำความเข้าใจ

 
ตัวอย่างการคำนวณ Bond Yield
 

ความสัมพันธ์ของ Bond Yield กับราคาพันธบัตร

Bond Yield จะมีทิศทางตรงกันข้ามกับราคาพันธบัตรเสมอ หมายความว่า หากราคาพันธบัตรปรับตัวขึ้นจะส่งผลให้ Bond Yield ปรับตัวลง ในทางตรงกันข้าม หากราคาพันธบัตรปรับตัวลงจะส่งผลให้ Bond Yield ปรับตัวขึ้น

ราคาพันธบัตรปรับตัวขึ้น = Bond Yield ปรับตัวลง

ราคาพันธบัตรปรับตัวลง = Bond Yield ปรับตัวขึ้น

ความสัมพันธ์ของ Bond Yield กับเงินเฟ้อ

ก่อนอื่นคุณต้องทำความเข้าใจก่อนว่า การเกิดเงินเฟ้ออ่อน ๆ ในทางเศรษฐศาสตร์นักลงทุนจะให้มุมมองเป็นบวก แต่หากเงินเฟ้อมีตัวเลขที่สูงมากเกินไป ธนาคารกลางของประเทศต่าง ๆ จะมีการออกนโยบายสกัดกั้นเงินเฟ้อ ซึ่งนโยบายที่เราพบเห็นได้บ่อย คือ การขึ้นอัตราดอกเบี้ย ดังนั้น Bond Yield กับเงินเฟ้อ จึงมีความสัมพันธ์กันโดยตรง เนื่องจากเงินเฟ้อส่งผลกระทบต่ออัตราดอกเบี้ยในตลาด

ความสัมพันธ์ของ Bond Yield กับอัตราดอกเบี้ย

เมื่อเกิดภาวะเงินเฟ้อจะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นจากนโยบายของธนาคารกลาง และเป็นสาเหตุที่ทำให้นักลงทุนส่วนใหญ่โยกย้ายเงินลงทุนจากสินทรัพย์เสี่ยงมายังตราสารหนี้ เนื่องจากให้ผลตอบแทนที่มากขึ้นและมีความเสี่ยงต่ำ รวมไปยังนักลงทุนที่ถือพันธบัตรอยู่อาจลังเลที่จะไม่ถือต่อ เพราะพันธบัตรชุดใหม่จะให้ผลตอบแทนที่มากกว่า

ดังนั้น นักลงทุนส่วนใหญ่จะเกิดการเทขายพันธบัตรชุดเดิม และส่งผลให้ราคาพันธบัตรลดลงในที่สุด ซึ่งอย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า เมื่อราคาพันธบัตรลดลงจะส่งผลให้ Bond Yield สูงขึ้น ในทางกลับกัน หากอัตราดอกเบี้ยในตลาดลดลง นักลงทุนที่ถือพันธบัตรที่มีดอกเบี้ยสูงอยู่แล้วจะไม่ขายพันธบัตร เนื่องจากนักลงทุนได้รับผลตอบแทนจากพันธบัตรชุดเก่ามากกว่าพันธบัตรที่จะออกใหม่

สรุป Bond Yield คืออะไร? ส่งผลต่อตลาดหุ้นอย่างไร?

Bond Yield คือ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล หรือผลตอบแทนที่นักลงทุนคาดหวังจากการถือครองพันธบัตรรัฐบาล ซึ่งนักลงทุนส่วนใหญ่จะให้ความสนใจกับ Bond Yield สหรัฐฯ อายุ 10 ปี เนื่องจากความเคลื่อนไหวสามารถสะท้อนทิศทางของตลาดได้เป็นอย่างดีโดยเฉพาะตลาดหุ้น

โดย Bond Yield มีความสัมพันธ์กับอัตราดอกเบี้ยในตลาด ซึ่งสำหรับนักลงทุนที่ชื่นชอบในสินทรัพย์เสี่ยงโดยเฉพาะหุ้น ปฏิเสธไม่ได้ว่า นโยบายการเงินที่มีผลต่อการปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยนั้นมีผลอย่างมากต่อราคาสินทรัพย์ เนื่องจากหากอัตราดอกเบี้ยในตลาดมีการปรับตัวขึ้นอย่างรุนแรง หมายความว่า ต้นทุนการกู้ยืมเพื่อทำธุรกิจจะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

นอกจากนี้ การที่ Bond Yield ปรับตัวสูงขึ้นยังสามารถสะท้อนถึงความกังวลของนักลงทุนต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรุนแรงเพื่อสกัดเงินเฟ้อ ซึ่งการที่อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจะทำให้ต้นทุนการดำเนินธุรกิจสูงขึ้น และมีผลกระทบต่อผลการดำเนินงานในที่สุด รวมไปถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยยังทำให้ความน่าสนใจของตลาดหุ้นลดลงอีกด้วย

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับ Bond Yield คืออะไร?

Bond Yield คืออะไร?

Bond Yield คือ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล ซึ่งเป็นผลตอบแทนที่นักลงทุนคาดหวังจากการถือครองพันธบัตรรัฐบาล

Bond Yield ขึ้นเพราะอะไร?

Bond Yield ขึ้นจากการปรับตัวขึ้นของอัตราดอกเบี้ย โดยเมื่ออัตราดอกเบี้ยมีการปรับตัวขึ้น ส่งผลให้นักลงทุนที่ถือครองพันธบัตรอยู่แล้วเทขายพันธบัตรชุดเดิม เนื่องจากต้องการนำเงินไปลงทุนในพันธบัตรชุดใหม่ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า ซึ่งการเทขายพันธบัตรจะส่งผลให้ราคาพันธบัตรลดลง

Bond Yield ขึ้น หุ้นร่วง เพราะอะไร?

Bond Yield ขึ้นแต่หุ้นร่วง เนื่องจากการปรับตัวขึ้นของ Bond Yield มาจากอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น ซึ่งโดยปกติแล้วเมื่ออัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น นักลงทุนจะโยกย้ายเงินทุนจากตลาดหุ้นมายังตราสารหนี้ เพราะให้ผลตอบแทนที่มากขึ้น แต่มีความเสี่ยงที่ต่ำกว่ามาก

Bond Yield ขึ้น หุ้นได้ประโยชน์ เพราะอะไร?

ตามธรรมชาติของตลาดเงิน เมื่อ Bond Yield พุ่งสูงขึ้น จะส่งผลกระทบเชิงลบต่อตลาดหุ้นโดยตรง แต่ในกรณีนี้อาจเกิดจากนักลงทุนบางส่วนมีความเห็นว่า การซื้อหุ้นในขณะที่บอนด์ยีลด์เพิ่มขึ้นนั้นได้รับผลตอบแทนที่ดีในระยะยาวมากกว่า

ข้อมูลทั้งหมดที่ได้กล่าวในบทความนี้ หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับนักลงทุนทุกท่านไม่มากก็น้อย อย่างไรก็ตามการลงทุนนั้นมีความเสี่ยง นักลงทุนทุกท่านที่กำลังเลือกผลิตภัณฑ์ในการลงทุนด้านต่าง ๆ ต้องมีการศึกษาข้อมูลอย่างดี ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถที่จะบริหารความเสี่ยง และทำกำไรได้อย่างยั่งยืนนั่นเอง บทความหน้า Fxtoday จะมาให้ความรู้เรื่องอะไร โปรดติดตามผ่านเพจ FXtoday หรือเว็บไซต์ขอบคุณครับ
 
ความรู้เพิ่มเติม: คลิกที่นี่
รู้เท่าทันข่าว&สถานการณ์โลก: คลิกที่นี่
บทวิเคราะห์เชิงเทคนิคขั้นสูง:คลิกที่นี่
Tags:

Forex News

TECHNICAL ANALYSIS