ดอลลาร์อาจอ่อนค่าลง หากตลาดเดินหน้า Risk-On

ดอลลาร์อาจอ่อนค่าลง หากตลาดเดินหน้า Risk-On
Create at 2 years ago (May 10, 2021 11:52)

สัปดาห์ที่ผ่านมา เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวดีขึ้นหนุน Reflation Trade โดยเฉพาะหุ้นกลุ่ม Cyclical sectors พุ่งขึ้นแรง

จับตา แนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจทั่วโลก โดยเฉพาะ ยุโรปและสหรัฐฯ รวมถึงถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด

เงินดอลลาร์มีโอกาสทรงตัวหรืออ่อนค่าลง หากตลาดยังเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) โดยผู้เล่นในตลาดอาจลดความต้องการถือเงินดอลลาร์ หลังตลาดกล้าเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น จากมุมมองที่เชื่อว่าเฟดจะไม่รีบเปลี่ยนนโยบายการเงิน หลังยอดการจ้างงานสหรัฐฯออกมาแย่กว่าคาด ทั้งนี้ แนวรับสำคัญเงินบาทยังอยู่ที่ระดับ 31 บาทต่อดอลลาร์ แม้ดอลลาร์อ่อนค่าลง เพราะยังมีแรงซื้อสกุลเงินต่างชาติจากผู้นำเข้ารวมถึงแรงซื้อสกุลเงินต่างชาติเพื่อจ่ายปันผลนักลงทุนต่างชาติ

กรอบเงินบาทสัปดาห์นี้ 31.00-31.35 บาท/ดอลลาร์

มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก

ฝั่งสหรัฐฯ – เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงเดินหน้าฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือนเมษายน จะเพิ่มขึ้นราว 1.0%m/m หนุนโดยความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนผ่านตัวเลขคาดการณ์ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยมหาวิทยาลัยมิชิแกน (UofMichigan Consumer Sentiment) เดือนพฤษภาคม ที่จะปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 90.1 นอกจากนี้ ภาพรวมเศรษฐกิจที่ดีขึ้น จากทั้งการบริโภคในประเทศจะช่วยหนุนให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) เดือนเมษายน เร่งตัวขึ้นสู่ระดับ 2.3% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) จะได้แรงหนุนจากฐานราคาน้ำมันปีก่อนหน้าที่อยู่ในระดับต่ำ ทำให้ CPI เร่งตัวขึ้นแตะ 3.6%ทั้งนี้ ควรติดตามมุมมองต่อเศรษฐกิจและแนวโน้มนโยบายการเงิน ผ่านถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด อาทิ Evans, Williams, Brainard ในวันอังคาร Daly, Bostic, Clarida ในวันพุธ Barkin ในวันพฤหัสฯ และ Waller , Bullard ในวันศุกร์ โดยต้องระมัดระวังในกรณีที่เจ้าหน้าที่เฟดส่วนใหญ่แสดงความมั่นใจแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจและสนับสนุนการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น อย่าง การปรับลดคิวอี (QE Tapering) เพราะอาจทำให้ตลาดปิดรับความเสี่ยงได้

 

ฝั่งยุโรป – ตลาดมีมุมมองที่ดีขึ้นต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจยุโรป สะท้อนผ่านดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (Sentix Investor Confidence) เดือนพฤษภาคม ที่จะปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 15 จุด จาก 13.1 จุดในเดือนก่อน สอดคล้องกับผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจของเยอรมนีและยุโรป (ZEW Economic Sentiment) ในเดือนพฤษภาคม ที่จะปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 72 จุด และ 68 จุด ตามลำดับ ส่วนในฝั่งอังกฤษ อานิสงส์ของการเร่งแจกจ่ายวัคซีนจะช่วยให้ภาคอุตสาหกรรมอังกฤษฟื้นตัวดีขึ้น โดยยอดผลผลิตอุตสาหกรรม (Industrial Production) เดือนมีนาคม จะปรับตัวขึ้นกว่า 1.0%m/m อย่างไรก็ดี ปัญหาการระบาดในช่วงไตรมาสแรกจะกดดันให้เศรษฐกิจหดตัว -6.1%y/y

 

ฝั่งเอเชีย – เศรษฐกิจฟิลิปปินส์มีโอกาสหดตัวกว่า 3.2%y/y ในไตรมาสแรกจากปัญหาการระบาด COVID-19 ที่รุนแรง ซึ่งจะส่งผลให้ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ (BSP) จำเป็นต้องใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อไป ด้วยการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.00% และ BSP อาจจะไม่สามารถลดดอกเบี้ยลงได้อีก เพราะอัตราเงินเฟ้อฟิลิปปินส์ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 4.5% สูงกว่ากรอบเป้าหมายของ BSP ส่วนมาเลเซียที่ยังมีปัญหาการระบาดหนักเช่นกัน ก็อาจเห็นเศรษฐกิจในไตรมาสแรกหดตัว 0.5%y/y

Tags:

TECHNICAL ANALYSIS

ARTICLES