วิเคราะห์ภาพรวมอนาคตเศรษฐกิจญี่ปุ่นจากนโยบายการเงิน

วิเคราะห์ภาพรวมอนาคตเศรษฐกิจญี่ปุ่นจากนโยบายการเงิน
Create at 1 year ago (Dec 28, 2022 16:27)

ญี่ปุ่นกับกับดักสภาพคล่อง

เริ่มต้นมาตั้งแต่หลังทศวรรษที่ 1990 ญี่ปุ่นได้เผชิญกับวิกฤตการทางการเงินหรือการชะลอตัวของการเติบโตอย่างกะทันหัน ส่งผลให้นโยบายทางการเงินแบบเดิมๆไม่สามารถแก้ไขได้ ทำให้ญี่ปุ่นประสบกับความท้าทายในการนำนโยบายทางการเงินแบบใหม่มาใช้ อย่าง อัตราดอกเบี้ยนโยบายเข้าใกล้ศูนย์ (ZLB) ทำให้ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจของญี่ปุ่นไม่ได้มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่ก็ไม่ได้หยุดชะงักไปเสียทั้งหมด ซึ่งหากอ้างอิงตามเกณฑ์ GDP ต่อหัว เศรษฐกิจญี่ปุ่นก็เรียกได้ว่ายังเติบโตในระดับเดียวกับประเทศอุตสาหกรรมอื่นๆอยู่

ปัจจุบัน อัตราดอกเบี้ยนโยบายระยะสั้นของประเทศญี่ปุ่นจึงอยู่ที่ -0.1% และระยะยาวจะอยู่ที่ 0% (หรือที่เรียกว่า Zero lower bound หรืออัตราดอกเบี้ยนโยบายเข้าใกล้ศูนย์จึงอาจเรียกได้ว่าที่ผ่านมา ญี่ปุ่นอาจติดอยู่ในกับดักสภาพคล่อง (Liquidity Trap) มาตลอด โดยกับดักสภาพคล่อง คือสถานการณ์ที่นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย (การเพิ่มปริมาณของเงินในระบบเศรษฐกิจ หรือการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาที่ 0% หรือติดลบ) ไม่สามารถกระตุ้นให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจได้อีกต่อไป ทั้งยังไม่ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ทั้งของภาคธุรกิจและประชาชนที่ต่ำ เนื่องจากผู้คนไม่มั่นใจในเศรษฐกิจ จึงจับจ่ายใช้สอยและลงทุนในธุรกิจน้อยลง และส่งผลต่อ GDP ที่ชะลอตัวเป็นลำดับถัดไป

อนาคตเศรษฐกิจญี่ปุ่น

อย่างไรก็ตาม ในเดือนพฤศจิกายน 2022 ที่ผ่านมา อัตราเงินเฟ้อของญี่ปุ่นได้แตะระดับสูงสุดในรอบ 41 ปี โดย CPI ได้มีการขยับขึ้นเป็น 3.7% ซึ่งสูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 1981 โดย BOJ คาดการณ์ว่า อัตราการเปลี่ยนแปลงดัชนีราคาผู้บริโภคแบบปีต่อปีมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอีกในช่วงปลายปีนี้ และจากนั้นอาจจะชะลอตัวลงในช่วงกลางปีงบประมาณ 2023

โดย BOJ รายงานว่า ปัจจุบันมีบริษัทจำนวนมากขึ้นได้ส่งต่อต้นทุนที่เพิ่มขึ้นไปยังราคาสินค้าและบริการ ซึ่งอาจนำไปสู่การสร้างโมเมนตัมของอัตราเงินเฟ้อ หรือการเพิ่มผลกำไรให้กับองค์กรและเศรษฐกิจต่อๆไป ซึ่งโดยรวม เศรษฐกิจญี่ปุ่นมีการฟื้นตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยส่วนหนึ่งได้รับแรงหนุนจากการเพิ่มขึ้นจากการลงทุนและการบริโภคจากภาคเอกชน โดย BOJ คาดว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะเติบโตในอัตราเร่งที่สูงกว่าที่คาดการณ์ เนื่องจากปัจจัยต่างๆ เช่น แรงผลักดันในการปรับขึ้นค่าจ้าง รวมถึงการลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ และการลงทุนเพื่อเตรียมรับการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล

ด้วยเหตุนี้ ราคาผู้บริโภคในญี่ปุ่นจึงถูกคาดการณ์ว่ากำลังเข้าใกล้สถานะก่อนช่วงที่จะเกิดภาวะเงินฝืดแล้วก็เป็นได้ จึงอาจถือเป็นสัญญาณที่เศรษฐกิจของญี่ปุ่นใกล้ที่จะหลุดออกจากกับดักสภาพคล่องได้เร็วๆนี้

อนาคตเศรษฐกิจญี่ปุ่น

ทิศทางนโยบายการเงินญี่ปุ่นในอนาคต

อ้างถึงรายงานสรุปผลการประชุมนโยบายการเงิน BOJ ยังคงมุ่งมั่นที่จะดำเนินมาตรการผ่อนคลายทางการเงินเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ (QQE) ควบคู่ไปกับการควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (Yield curve control หรือ YCC) ต่อไป โดยมีเป้าหมายเพื่อให้บรรลุเสถียรภาพทางราคาตราบเท่าที่จำเป็น

BOJ กล่าวว่าการขยายเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตร JGB 10 ปี ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปลี่ยนทิศทางของมาตรการผ่อนคลายทางการเงิน แต่มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความยั่งยืนท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อทั่วโลกผ่านการปรับปรุงการทำงานของตลาดตราสารหนี้ โดยยังเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการรักษาระดับอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำ เพื่อสนับสนุนการปฏิรูปเศรษฐกิจและโครงสร้างในการปรับขึ้นค่าจ้างอย่างยั่งยืน ผ่านการปรับหรือขยายเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาว

นอกจากนี้ เนื่องจากการบริหารเงินกองทุนและการจัดหาเงินทุนต่างๆภายในประเทศ ยังคงตั้งอยู่บนสมมติฐานที่อัตราดอกเบี้ยจะยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำเป็นเวลานาน จึงทำให้หากจะมีการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินปัจจุบันเป็นแบบเข้มงวด จำเป็นต้องมีการตรวจสอบความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น รวมถึงความพร้อมของผู้ที่เกี่ยวข้องในตลาดด้วยเช่นกัน

ด้วยเหตุนี้ เมื่อมองย้อนภาพรวมเศรษฐกิจตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันของญี่ปุ่น ไม่แน่ว่าวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทั่วโลกในครั้งนี้อาจจะพลิกเป็นโอกาสที่ดีสำหรับเศรษฐกิจญี่ปุ่นก็เป็นได้ ดังจะเห็นได้จากข่าวการพยายามผลักดันให้ภาคธุรกิจและเอกชนปรับเพิ่มค่าจ้างควบคู่ไปกับการปรับเพิ่มขึ้นของราคาหรืออัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นพร้อมๆกันทั่วโลกในขณะนี้ ซึ่งอาจจะส่งผลให้ญี่ปุ่นสามารถหลุดออกจาก Deflationary spiral หรือวังวนแห่งภาวะเงินฝืดได้ ซึ่งหากเป็นไปตามแผนและจังหวะ ในไม่กี่ปีข้างหน้านี้ เราอาจจะได้เห็นแสงอาทิตย์อุทัยที่ปลายอุโมงค์อีกครั้ง พร้อมไปกับการเติบโตทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นที่แม้จะไม่จะสามารถกลับมายังจุดเดิมที่เคยยืน แต่ก็คงจะไม่ใช่แนวราบอีกต่อไป

Sources: Cambridge Journals, BOJ's MPM 2022

อ้างอิง: Lipscy, P. (2022). Japan: The harbinger state. Japanese Journal of Political Science, 1-18. doi:10.1017/S1468109922000329

________________________________
อัพเกรดความรู้เพิ่มเติม: Blog
รู้เท่าทันข่าว&สถานการณ์โลก: News
บทวิเคราะห์เชิงเทคนิคขั้นสูง: Analysis

 

 

Tags:

Forex News

ARTICLES