ทุนสำรองระหว่างประเทศ ตัวช่วยลดความผันผวนค่าเงิน

ทุนสำรองระหว่างประเทศ ตัวช่วยลดความผันผวนค่าเงิน
Create at 1 year ago (Oct 18, 2022 17:32)

นอกจากเงินดอลลาร์สหรัฐแล้ว แต่ละประเทศสามารถใช้อะไรเป็นทุนสำรองระหว่างประเทศได้บ้าง แล้วทุนสำรองช่วยลดความผันผวนของค่าเงินได้จริงหรือ? วันนี้ทีมงาน Fxtoday จะพาไปค้นหาคำตอบกันว่า ทุนสำรองระหว่างประเทศคืออะไร? และมีไว้เพื่อจุดประสงค์ใด?

ทุนสำรองระหว่างประเทศ คืออะไร?

ทุนสำรองระหว่างประเทศ หรือ “ทุนสำรอง” คือ เงินตราและสินทรัพย์ต่าง ๆ ในสกุลเงินตราต่างประเทศ ซึ่งอยู่ภายใต้การครอบครองและควบคุมจากธนาคารกลาง เพื่อใช้หนุนการพิมพ์ธนบัตร รักษามูลค่าเงินตรา ชำระหนี้ และสร้างเสถียรภาพในระบบเศรษฐกิจ

โดยสินทรัพย์ที่อยู่ภายใต้การถือครอง สามารถเป็นได้ทั้งทองคำ สกุลเงินต่างประเทศ พันธบัตรรัฐบาลต่างประเทศ สินทรัพย์ส่งสมทบกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) สิทธิพิเศษถอนเงิน (SDR) และอื่น ๆ ซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากล แต่อย่างไรก็ดี ทุนสำรองส่วนใหญ่มักจะอยู่ในรูปของเงินดอลลาร์สหรัฐอันเป็นสกุลเงินสากล

 

ทุนสำรองระหว่างประเทศ ตัวช่วยลดความผันผวนค่าเงินที่มา : IMF

ทุนสำรองระหว่างประเทศ มีความสำคัญอย่างไร?

ทุนสำรองมีบทบาททั้งต่อระบบเศรษฐกิจ ค่าเงิน การลงทุน ตลอดจนประชาชนภายในประเทศ และผู้ที่ถือเงินในสกุลนั้น ๆ โดยสามารถจำแนกความสำคัญของทุนสำรองได้ดังนี้

1) เป็นหลักค้ำประกันสำหรับการพิมพ์เงินออกมาใช้ภายในประเทศ

2) เป็นสิ่งรักษามูลค่าและสมดุลค่าเงินในประเทศ เพื่อไม่ให้เกิดความผันผวน

3) เป็นสิ่งที่สามารถนำไปชำระหนี้ภายนอกประเทศ

4) เป็นสิ่งที่สร้างเสถียรภาพและสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจ

5) เป็นสิ่งที่สามารถนำมาใช้แลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ

6) เป็นสิ่งที่สร้างความเชื่อมั่นให้กับคนในประเทศและต่างประเทศ ตลอดจนนักลงทุน

ทุนสำรองระหว่างประเทศ มาจากไหน?

การที่จะได้มาซึ่งทุนสำรองนั้น มาจาก 2 ช่องทางหลัก ๆ คือ 

1) สินทรัพย์อื่น ๆ มาจากการที่ธนาคารกลางเข้าไปซื้อ หรือลงทุนไว้ เพื่อให้เกิดผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้น

2) เงินตราต่างประเทศ โดยเฉพาะดอลลาร์สหรัฐมาจากเงินตราส่วนเกินที่เกิดจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด (ดุลการค้า) และเงินที่ไหลเข้ามาภายในประเทศ ผ่านทั้งการท่องเที่ยว การส่งออกสินค้า และการนำรายได้กลับมาแลกเป็นเงินบาท

จากข้างต้น จะเห็นได้ว่า ทุนสำรองมาจากการท่องเที่ยวและภาคธุรกิจค่อนข้างมาก ดังนั้น ในช่วงที่ผ่านมา หลังเกิดโรคระบาดโควิด-19 และภาวะเงินเฟ้อ จึงทำให้เงินส่วนนี้หายไป ซึ่งประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในนั้นเช่นกัน

 

ทุนสำรองระหว่างประเทศ ตัวช่วยลดความผันผวนค่าเงินที่มา : Ceicdata

ทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยเป็นอย่างไร?

ทุนสำรองมีความสำคัญมากขนาดนี้ แล้วทุนสำรองในประเทศไทยเป็นอย่างไรบ้างนั้น นับเป็นคำถามที่น่าสนใจมาก เพราะจากการสำรวจพบว่า หลังจากที่ไทยเผชิญกับวิกฤตต้มยำกุ้ง เมื่อปี 2540 เป็นต้นมา ก็เริ่มมีการเก็บสะสมทุนสำรองมากขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งปัจจุบัน ไทยกลายมาเป็นประเทศที่มีทุนสำรองมากเป็นอันดับ 2 ของอาเซียน และติด Top 20 ของโลกอยู่เสมอ

ดังนั้น สถานการณ์ทุนสำรองของไทยจึงไม่น่าเป็นห่วงมากนัก เพราะนอกจากจะมีการถือครองดอลลาร์สหรัฐอยู่จำนวนหนึ่งแล้ว ยังมีการถือครองสินทรัพย์อื่น ๆ ด้วยเช่นกัน นับว่าทุนสำรองของเราค่อนข้างมากเพียงพอเลยทีเดียว

 

ทุนสำรองระหว่างประเทศ ตัวช่วยลดความผันผวนค่าเงินที่มา : ธนาคารแห่งประเทศไทย

 

โดยสรุปแล้ว ทุนสำรอง คือ สินทรัพย์ที่ธนาคารกลางของแต่ละประเทศนำมาใช้เพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและค่าเงิน ชำระหนี้ รวมถึงเก็บไว้ใช้ในกรณีฉุกเฉิน หากไม่มีทุนในส่วนดังกล่าวก็อาจจะก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงแก่ประเทศของเราได้ เพราะฉะนั้น นักลงทุนทั้งในและนอกประเทศจึงค่อนข้างให้ความสำคัญกับทุนสำรอง เนื่องจากเป็นสิ่งที่ใช้แสดงความน่าเชื่อถือให้กับประเทศนั้น ๆ

อย่างไรก็ดี สิ่งที่ส่งผลกระทบต่อทุนสำรองไม่ใช่เพียงสภาวะเศรษฐกิจและสภาพคล่องในประเทศเท่านั้น แต่ยังมีการแข็งค่าและอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ด้วยเช่นกัน เพราะดอลลาร์สหรัฐถือเป็นสกุลเงินที่ถูกถือครองเป็นทุนสำรองมากที่สุด ดังนั้น เพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดจากความผันผวนของค่าเงินในส่วนนี้ ทุนสำรองจึงถูกนำมาใช้เพื่อพยุงราคาค่าเงินนั่นเอง

 

Source: The balance money, ธนาคารแห่งประเทศไทย

____________________________________________
อัพเกรดความรู้เพิ่มเติม: Blog
รู้เท่าทันข่าว&สถานการณ์โลก: Forex News
บทวิเคราะห์เชิงเทคนิคขั้นสูง: Technical Analysis
Tags:

Forex News

TECHNICAL ANALYSIS