Micro & Macro Economic คืออะไร สำคัญอย่างไร?

Micro & Macro Economic คืออะไร สำคัญอย่างไร?
Create at 1 year ago (Jun 22, 2022 11:28)

ความเป็นมาของ Micro & Macro Economic

หลังจากเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ไปทั่วโลก ช่วงทศวรรษ 1930 ซึ่งได้สร้างปรากฏการณ์ที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่น และความศรัทราในหลักปรัชญาทางเศรษฐศาสตร์ของสำนักคลาสสิกเป็นอย่างมาก เมื่อกลไกตลาดไม่สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เข้าสู่ดุลยภาพได้ดังเดิม และยังประสบกับภาวะผู้ว่างงานล้นตลาด

 

จนกระทั่ง จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ ได้เสนอแนวความคิดในการแก้ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจในครั้งนั้นผ่านการจัดการด้านอุปสงค์มวลรวม (Aggregate Demand) ซึ่งตีพิมพ์เป็นหนังสือใน ปี ค.ศ. 1936 ที่มีชื่อว่า "The General Theory of Employment, Money and Interest" ซึ่งได้รับความสนใจไปอย่างกว้างขวาง โดยเป็นหนังสือที่มีเนื้อหาสาระสำคัญในด้านทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ที่ว่าด้วยองค์รวมโดยเฉพาะ จึงเป็นที่มาของการนำไปสู่การแบ่งขอบเขตของการศึกษาทางเศรษฐศาสตร์
 

การศึกษาทางเศรษฐศาสตร์

การศึกษาทางเศรษฐศาสตร์แบ่งออกเป็น 2 ภาค คือ เศรษฐศาสตร์จุลภาค (Micro Economics) และเศรษฐศาสตร์มหภาค (Macro Economics) ดังนี้

1) เศรษฐศาสตร์จุลภาค

(Micro Economics)

เป็นการศึกษาพฤติกรรมของหน่วยเศรษฐกิจรายย่อย ได้แก่ ผู้ผลิต ผู้บริโภค และเจ้าของปัจจัยการผลิต ซึ่งส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการกำหนดราคาของสินค้า และปัจจัยแต่ละชนิดในตลาดต่าง ๆ ตลอดจนการกระจายรายได้ กล่าวโดยสรุปคือ เป็นเรื่องของธุรกิจเดียว ตลาดเดียว ซึ่งสามารถใช้หลักอุปสงค์ (Demand) คือ การมองทางด้านผู้ซื้อ และอุปทาน (Supply) ซึ่งเป็นการมองทางด้านผู้ขาย

2) เศรษฐศาสตร์มหภาค

(Macro Economics)

เป็นการศึกษาพฤติกรรมของหน่วยเศรษฐกิจหน่วยใหญ่ หรือส่วนรวมของทั้งประเทศ รวมทั้งปัญหาเศรษฐกิจระดับชาติ หรือระดับโลก เช่น รายได้ประชาชาติ (GDP&GNP), การเงินการธนาคาร, การค้าระหว่างประเทศ, การพัฒนาเศรษฐกิจ, การออมและการลงทุน, และแรงงาน-การว่างงาน เป็นต้น โดยมีแนวคิดในการวิเคราะห์มากมาย
 
แต่หลักการเบื้องต้นง่าย ๆ คือ อุปสงค์ (Demand) และอุปทาน (Supply) เช่นกัน ซึ่งการศึกษาเศรษฐศาสตร์มหภาคจะทำให้เราสามารถทำความเข้าใจถึงปรากฏการณ์ต่าง ๆ ทางเศรษฐกิจได้ดีขึ้น และสามารถนำเอาแนวคิด และทฤษฎีด้านเศรษฐศาสตร์มหภาค ไปใช้เป็นเครื่องมือในการประกอบการวิเคราะห์ตัดสินใจบริหารงานด้านต่าง ๆ ทั้งภาคเอกชนและรัฐบาล เพื่อให้ระบบเศรษฐกิจดำเนินต่อไปอย่างมีประสิทธิภาพ และดำเนินไปอย่างมีเสถียรภาพ

 

 MICRO & MACRO ECONOMIC คืออะไร สำคัญอย่างไร

 

จุดมุ่งหมายของเศรษฐศาสตร์มหภาค

1) เพื่อความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ

(Economic Progress)

เป็นเป้าหมายทางเศรษฐกิจที่สำคัญของส่วนรวม เมื่อเศรษฐกิจมีความเจริญเติบโต คือ มีการลงทุน การผลิต และการบริโภคสินค้าและบริการเพิ่มมากขึ้น ย่อมแสดงว่า มีความสามารถในการจัดสรรทรัพยากรของประเทศที่มีจำกัด ให้ประชากรมีความกินดีอยู่ดีขึ้น มีสินค้าและบริการสนองความต้องการเพิ่มสูงขึ้นนั่นเอง ซึ่งเราสามารถวัดได้จาก ตัวเลขรายได้ประชาชาติที่แท้จริง (Real National Income) และรายได้ที่แท้จริงต่อหัวของประชากรในประเทศ (Per Capita Real Income)

2) เพื่อความมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ

(Economic Stability)

เศรษฐกิจที่มีเสถียรภาพ จะมีการเปลี่ยนแปลงของระดับราคาค่อนข้างคงที่ ไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก ความมีเสถียรภาพภายในดูได้จากดัชนีราคาสินค้า (Price Index) หรือดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Price Index) และมีระดับการจ้างงานที่สูงพอสมควร
 
ส่วนเสถียรภาพภายนอกดูจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราสกุลของประเทศกับต่างประเทศ ซึ่งรัฐบาลสามารถเข้ามาแทรกแซงได้ถ้าเศรษฐกิจขาดเสถียรภาพ โดยใช้นโยบายการเงิน (Monetary Policy) และนโยบายการคลัง (Fiscal Policy) เข้าช่วย

3) เพื่อความยุติธรรมทางเศรษฐกิจ

(Economic Justice)

เพราะว่าทรัพยากรธรรมชาติมีอยู่อย่างจำกัด แต่ประชากรมีความต้องการไม่จำกัด รัฐบาลในแต่ละประเทศจึงเข้ามาจัดการการจัดสรรทรัพยากรทีมีจำกัด เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชากรส่วนใหญ่อย่างเท่าเทียมกัน
 
โดยการกระจายรายได้ การให้สิทธิ์ในทรัพย์สิน การบริการสาธารณูประโภคขั้นพื้นฐาน ในราคาที่ทุกคนสามารถใช้บริการได้เท่าเทียมกัน และมีการจัดเก็บภาษีอากรในอัตราก้าวหน้า เพื่อลดความเหลื่อมล้ำของรายได้ให้มีความเท่าเทียมกันมากที่สุด

4) เพื่อให้มีเสรีภาพทางเศรษฐกิจ

(Economic Freedom)

เสรีภาพทางเศรษฐกิจ คือ การที่ประชาชนมีสิทธิ์ในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ มีเสรีในการเลือกการบริโภค และการประกอบการอื่นในเศรษฐกิจ ซึ่งขอบเขตก็มีความแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับการปกครองของประเทศนั้น ๆ ในประเทศที่อยู่ในระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมย่อมมีเสรีภาพมากกว่าประเทศที่อยู่ในระบบเศรษฐกิจแบบสังคม

 

ความสำคัญของเศรษฐศาสตร์มหภาค

เนื่องจากเศรษฐศาสตร์มหภาคเป็นความสัมพันธ์ของตัวแปรต่าง ๆ ของระบบเศรษฐกิจโดยรวม ซึ่งมีผลต่อความเป็นอยู่ของประชาชนทุกคน ดังนั้น เศรษฐศาสตร์มหภาคจึงมีความสำคัญ ดังนี้

 

1) ประชาชนทั่วไป ประชาชนเป็นพลเมืองส่วนใหญ่ของประเทศ ถ้ามีความเข้าใจในภาวะเศรษฐกิจก็จะสามารถปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจได้อย่างทันท่วงที และจะช่วยให้ประชาชนเข้าใจและสามารถที่จะให้ความร่วมมือกับรัฐบาลได้อย่างดียิ่งขึ้น

 

2) ผู้ประกอบการ ไม่ว่าผู้ประกอบการอาชีพใดก็ต้องอาศัยความรู้ทางเศรษฐศาสตร์ในการประกอบการตัดสินใจบริหารงานต่าง ๆ ซึ่งจะสามารถปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจได้ และเป็นการลดความเสียงจากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจได้อีกด้วย

 

3) เครื่องมือวิเคราะห์ สำหรับผู้ที่มีความรู้ในทางเศรษฐศาสตร์ในระดับสูงในทฤษฏีเศรษฐศาสตร์มหภาค เกี่ยวกับรายได้ประชาชาติ วัฏจักรเศรษฐกิจ การเงินและการธนาคาร การคลังรัฐบาล การค้าระหว่างประเทศ และการพัฒนาเศรษฐกิจ จะเป็นเครื่องมือขึ้นต้นประกอบการวิเคราะห์เศรษฐกิจในขั้นต่อไป

 

จากที่ได้กล่าวไปทั้งหมด เทรดเดอร์ทุก ๆ ท่าน คงได้ทราบถึงนิยามและความสำคัญของ เศรษฐศาสตร์จุลภาค (Micro Economics) และ เศรษฐศาสตร์มหภาค (Macro Economics) กันแล้ว อย่างไรก็ตามนี่ก็เป็นเพียงความรู้ส่วนนึงในการทำความเข้าใจถึงกลไกลตลาด ซึ่งหากไม่อยากพลาดความรู้ด้านการลงทุน ทั้งบทความ, ข่าวสาร รวมทั้งบทวิเคราะห์เชิงลึก สามารถติดตามได้ที่ www.fxtoday.news แล้วพบกันบทความถัดไปครับ ขอบคุณครับ

อัพเกรดความรู้เพิ่มเติม: คลิกที่นี่
รู้เท่าทันข่าว&สถานการณ์โลก: คลิกที่นี่
บทวิเคราะห์เชิงเทคนิคขั้นสูง: คลิกที่นี่