สถานการณ์ปัจจุบันนี้ นักลงทุนทุกคนคงทราบดีว่ามีปัจจัยเสี่ยงอะไรบ้างที่กำลังกดดันตลาด และส่งเสริมให้มีความความผันผวนเพิ่มขึ้นในตลาดทุน หากตัดเรื่องความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิดออกไป สัปดาห์นี้สิ่งที่นักลงทุนควรจับตาดูในการลงทุนกับตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกาคือดัชนีราคาการบริโภคส่วนบุคคล (PCE Index) ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรวัดเงินเฟ้อของธนาคารกลางสหรัฐฯ และปฏิกริยาของธนาคารกลางสหรัฐฯ หลังจากได้เห็นตัวเลข PCE นี้
นอกจากตัวเลขเศรษฐกิจ และความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์ การรายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนก็จะยังคงดำเนินต่อไปถึงแม้ว่าจะไม่มีบริษัทชื่อดังแล้ว บริษัทในกลุ่มค้าปลีกอย่างเช่น โฮม ดีโป (NYSE:HD) ห้างเมซี่ (NYSE:M) จะรายงานผลประกอบการ และยังมีบริษัททางด้านพลังงานอีกอย่างเช่น Occidental Petroleum (NYSE:OXY) และ Coterra Energy (NYSE:CTRA)
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ดัชนีหลักทั้งสี่ของสหรัฐอเมริกาได้แก่เอสแอนด์พี 500, แนสแด็ก, ดาวโจนส์ และรัสเซล 2000 ต่างก็ปรับตัวลดลงต่ำกว่าเส้นค่าเฉลี่ย 200 วัน นับเป็นครั้งแรกที่ดัชนีทั้งสี่ฝ่าแนวรับนี้ลงมาได้ตั้งแต่เคยตัดขึ้นจากจุดต่ำสุดปี 2020 ดัชนีดาวโจนส์ปรับตัวลดลง 1.9% แนสแด็ก 1.8% และเอสแอนด์พี 500 1.6% ซึ่งถ้านับตั้งแต่ต้นปี 2022 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ถือเป็นการสร้างขาลงมาแล้วทั้งสิ้น 8.8%
SPX Daily
รูปนี้แสดงให้เห็นความเป็นไปได้ที่ดัชนีเอสแอนด์พี 500 กำลังจะพลิกกลายเป็นขาลง ตอนนี้การสร้างไหล่ซ้าย ส่วนหัว และไหล่ขวา ของรูปแบบหัวไหล่ (Head & Shoulder) ก็เสร็จสมบูรณ์แล้ว ซึ่งการตัดเส้น 200 วันลงมา ยิ่งเป็นการยืนยันความเป็นไปได้นี้
สัปดาห์ที่ผ่านมา อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปีที่มักจะวิ่งไปในทิศทางตรงกันข้ามกับตลาดหุ้น ดูเหมือนว่ามีโอกาสจะสร้างขาขึ้นต่อเนื่อง
UST 10Y Daily
ในสามวันสุดท้ายของสัปดาห์ที่แล้ว อัตราผลตอบแทนพันธบัตรฯ 10 ปีเกิดการสร้างขาลง แต่ดูเหมือนว่าจะยังได้แนวรับ ซึ่งเป็นจุดสูงสุดเดิมรองเอาไว้ ต่อให้กราฟ 10 ปีจะกลับลงไปที่ 1.8% ส่วนตัวเราเชื่อว่าเป็นเพียงการย่อระยะสั้น เพื่อที่จะกลายเป็นขาขึ้นต่อในระยะยาว ยิ่งอัตราผลตอบแทนขึ้นสูงเท่าไหร่ ยิ่งหมายความว่าอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นจะยิ่งกดดันตลาดหุ้นมากเท่านั้น
ช่วงสองวันสุดท้ายของสัปดาห์ที่แล้ว ดอลลาร์สหรัฐก็แข็งค่าด้วยเช่นกัน ถึงกระนั้นขาขึ้นนี้ก็ยังวิ่งอยู่ในกรอบไซด์เวย์ ที่กินเวลายาวนานมาตั้งแต่ช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในเดือนหน้าอาจส่งดัชนีดอลลาร์สหรัฐให้ทะยานขึ้น จนกลายเป้นแนวโน้มขาขึ้นอย่างชัดเจน
อีกหนึ่งสินทรัพย์ที่โดดเด่นเป็นอย่างมากในสัปดาห์ที่แล้วคือทองคำ เมื่อราคาสามารถวิ่งขึ้นกลับมาทดสอบจุดสูงสุด $1,900 ได้สำเร็จ แม้จะยังไม่สามารถปิดเหนือระดับราคาดังกล่าวได้ แต่ด้วยสถานการณ์การเป็นสินทรัพย์สำรองปลอดภัย กับสถานการณ์ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ มีโอกาสที่ราคาทองคำจะปรับตัวขึ้นต่อ
Gold Daily
จากรูป เราจะเห็นว่าทองคำวิ่งอยู่ในกรอบราคาขาขึ้น (สีเขียว) แต่การที่ทองคำพึ่งจะทะลุกรอบสามเหลี่ยมสมมาตร (เส้นเทรนด์ไลน์สีเขียว) ขึ้นมาได้ ราคายังมีโอกาสที่จะย่อลงมาทดสอบแนวรับนี้อีกครั้ง ก่อนที่จะปรับตัวขึ้นต่อไป
หรือมนต์ขลังในฐานะสินทรัพย์สำรองของสกุลเงินดิจิทัลบิทคอยน์จะสิ้นสุดลงเพียงเท่านี้? หลังจากที่ราคาบิทคอยน์ปรับตัวขึ้นมาได้สักพัก ตอนนี้ดูเหมือนว่าแนวรับที่ไม่สมควรจะหลุดลงมาได้อย่าง $40,000 จะพยุงราคาไม่อยู่เสียแล้ว